- รายละเอียด
- เขียนโดย Tong
- ฮิต: 1400
郝少如先師
เฮ่อ เส้าหยู (ค.ศ. 1908 – 1983) ชื่อแรก เมิ่ง ซิว เป็นคนถนนตะวันตก เมือง กว่างฟู่ อำเภอหยงเหนียน มณฑล เหอเป่ย บิดาคือ เฮ่อ เย่อหยู ปู่คือ เฮ่อ เว่ยเจิง ล้วนเป็นผู้ลือชื่อทางมวยไท้เก็ก
เฮ่อ เส้าหยู มีรูปร่างสูงใหญ่ ล่ำสัน กำลังแขนเหนือคนธรรมดา คล้ายกับคุณปู่ เฮ่อ เว่ยเจิง มาก เนื่องจากเติบโตในตระกูลมวยไท้เก็ก เฮ่อ เส้าหยู ติดตามบิดา และคุณปู่ ฝึกมวยไท้เก็กตั้งแต่เด็ก ได้รับการชี้แนะจากบิดา และคุณปู่ ทำให้สามารถเข้าใจ หลักปฏิบัติและทฤษฎีของมวยไท้เก็กตั้งแต่เยาว์วัย เพียงอายุ 21 ปี ก็สามารถเข้าถึงแก่นของมวยไท้เก็กสกุลอู่ และได้เป็นผู้ช่วยสอนในกองมวยจีน อำเภอ หยงเหนียน ต่อมาปี ค.ศ. 1932 ด้วยวัยเพียง 24 ปี ก็ได้เป็นผู้ฝึกสอนมวยไท้เก็กสกุลอู่ที่มหาวิทยาลัยจงยัง และศาลฎีกา เมืองนานกิง พร้อมกับบิดา ภายหลังจากการแนะนำของ จาง ซื่อยี ได้เป็นตัวแทนบิดาไปเป็นผู้ฝึกสอนมวยที่โรงงานผลิตยาซินยา เมืองเซี่ยงไฮ้ ถือได้เป็นการเผยแพร่มวยไท้เก็กสกุลอู่ เข้าสู่เมืองเซี่ยงไฮ้ เป็นครั้งแรก ปีค.ศ. 1933 ด้วยการแนะนำของ หวู ซ่างเซียน ได้เข้าสอนมวยที่โรงเรียนมัธยม เซี่ยงไฮ้ และโรงงาน หยู่จิ้นเจิ้งเต๋อ ปี 1937 ได้เปิดค่ายฝึกมวยไท้เก็กสกุล เฮ่อ ขึ้นที่เมือง เซี่ยงไฮ้ ตอนหลังเนื่องจากปัญหาทางการเมือง ก็ได้เข้าเป็นพนักงานประจำของ โรงงานผลิตยาซินยา และล้มเลิกชีวิตอาจารย์สอนมวยไท้เก็กชั่วขณะ ปี ค.ศ. 1961 จากการแนะนำของ นาย กู้ หลิงซิน ซึ่งเป็นหัวหน้า กองกีฬาเมืองเซี่ยงไฮ้ในขณะนั้น ได้เข้าสอนวิชามวยไท้เก็กสกุลอู่ที่สนามกีฬาเมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง นายหลี่ เว่ยหมิง ก็ได้เข้าเรียนวิชามวยกับ เฮ่อ เส้าหยู ในช่วงเวลานั้น
ความรู้มวยไท้เก็กของนาย เฮ่อ เส้าหยู กว้างขวางและลุ่มลึกมาก สุดยอดทั้งปฏิบัติและทฤษฎี เขาไม่เพียงสามารถอธิบายคำพูดทุกคำในหลักทฤษฎีไท้เก็ก ของปรมาจารย์แห่งไท้เก็กทั้ง 3 ท่านคือ นายหวัง จงเย่ นาย อู่ หยูเซียง และนาย หลี่ อี้หยี เท่านั้น ซ้ำยังสามารถร่ายรำมวยไท้เก็กได้อย่างหมดจด ไร้ที่ติ อีกทั้งสามารถอธิบายข้อกำหนดต่างๆ ที่ลึกซึ่งได้อย่างละเอียดและถูกต้องแม่นยำ จึงสมเป็นปรมาจารย์ไท้เก็กสกุลอู่ที่ลือชื่อคนหนึ่ง
เฮ่อ เส้าหยู เวลาใช้วิชาผลักมือ สามารถบังคับและควบคุมผู้อื่นได้ สมใจนึกโดยไม่ทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บแม้แต่น้อย เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนจำนวนมาก เช่น เมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1964 เฮ่อเส้าหยูได้แสดงร่ายรำวิชาผลักมือ ในสนามกีฬาเมืองเซี่ยงไฮ้ เขาได้ใช้วิชายกและปล่อยที่ชื่อ นกกระเรียงขาวกางปีกยกคู่ต่อสู้ (นาย ซุน โหย่งเต๋อ) จากตำแหน่งหน้าซ้าย ขึ้นสู่ ท้องฟ้า หมุนเป็นเกลียว 180 องศา ไปตกลงที่ตำแหน่งหลังขวา ห่างจากอาจารย์เฮ่อ หลายเมตร ทำให้ผู้ชมทั้งสนามฮือฮามาก อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1979 อาจารย์ เฮ่อ แสดงวิชาผลักมือที่โรงยิมแห่งตำบลหลูวาน เมืองเซี่ยงไฮ้ อาจารย์ ได้โยนคู่ต่อสู้เดี๋ยวก็จากซ้ายไปขวา เดี๋ยวก็จากขวาไปสู่ซ้าย ขึ้นไปบนอากาศหมุนไปมารอบๆ ตัวอาจารย์ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก จึงได้รับเสียงปรบมือที่กึกก้องและยาวนาน อาจารย์ได้ใช้กำลังจากภายในล้วนๆ ไม่มีการฝืนแรงแม้แต่น้อย เขาใช้การตั้งใจจดจ่อในการเค้นลมปราณ ใช้ลมปราณในการส่งพลัง ใช้ภายในควบคุมกำลังภายนอก สองมือไม่ต้องจับคู่ต่อสู้ เพียงประกบบนร่างฝ่ายตรงข้ามก็สามารถทำให้เขาขยับตัวไม่ได้ เช่นภายในเปลี่ยนแปลง แต่ภายนอกยังคงหยุดนิ่ง ทำให้คู่ต่อสู้เหมือนตกลงสู่เหวลึก ยืนไม่ติดหรือล้มตัวออกไป เพียงอาจารย์เริ่มออกแรง ฝ่ายตรงข้ามก็จะถูกโยนออกไปโดยไม่รู้ตัว จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
ทุกคนที่เคยดูการแสดงของ เฮ่อ เส้าหยู ล้วนสามารถสัมผัสถึงท่วงท่าที่ยิ่งใหญ่ และอิ่มเอิบของอาจารย์ เฮ่อ เส้าหยู ซึ่งมีพลังเต็มตัว แต่ละท่าแต่ละกระบวน ล้วนถูกควบคุมโดยภายใน จากในถึงนอก จิง (พลัง) ชี่ (ลมปราณ) เสิน (การตั้งใจจดจ่อ) ทั้ง 3 สิ่งถูกผสมผสานในทุกท่วงท่า จึงทำให้ทุกกระบวนท่าดูตื่นตาตื่นใจมาก นายเฮ่อ เส้าหยู ถือว่า มวยไท้เก็ก ไม่เพียงเป็นวิชาต่อสู้ชนิดหนึ่ง แต่ยังถือว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งด้วย เวลาอาจารย์ เฮ่อ เดิน ยืน นั่ง นอน ร่างกาย ล้วนเข้าสู่สภาพเดินพลังฝึกมวยอย่างเคยชิน เวลา อาจารย์ ยืนอยู่ถ้ามีใครล้มชนตัวท่านจะถูกเด้งกลับออกไปทันที
อาจารย์เฮ่อ เส้าหยู ได้ตั้งใจฝึกฝน และศึกษามวยไท้เก็ก ในชั่วชีวิตของท่าน ทฤษฎีของมวยไท้เก็กที่ท่านเขียนขึ้นนั้น เมื่อเทียบกับปรมาจารย์คนก่อนๆ จะยิ่งครอบคลุมระบุชัดเจน ละเอียดลออ และถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้องค์ความรู้แห่งไท้เก็กถูกเพิ่มพูนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1963 สำนักพิมพ์กีฬาประชาชนแห่งเมืองปักกิ่ง ได้พิมพ์จำหน่ายหนังสือของอาจารย์ เฮ่อ ชื่อ “มวยไท้เก็กสกุลอู่” นับเป็นผลงานที่สำคัญที่การเผยแพร่ และพัฒนามวยไท้เก็กสกุลอู่ ในหนังสือของอาจารย์เฮ่อ เส้าหยู ได้เขียนถึงเกล็ดมากมายที่มีคุณค่า และไม่มีคนทราบ ทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจมวยลึกซึ้งขึ้น และแก้ไขความเข้าใจผิดที่มีต่อทฤษฎีมวยไท้เก็กที่มีมาอย่างช้านาน จึงเป็นผลดีอย่างมากต่อการศึกษาและพัฒนา มวยไท้เก็กในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น
อาจารย์เฮ่อ เส้าหยู เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1983 ที่เซี่ยงไฮ้ขณะอายุได้ 75 ปี อาจารย์เฮ่อ เส้าหยู ก่อนเสียชีวิต เป็นกรรมการสภาวูซูเมืองเซี่ยงไฮ้ และที่ปรึกษา สภาวูซูตำบลซูหุย