郝为真師祖

 

เฮ่อเว่ยเจิน (ค.ศ.1849-1920) ชื่อเหอ มีอีกชื่อว่าเว่ยเจิน เป็นชาวมณฑลเหอเป่ย อำเภอหย่งเหนียนตำบลกว๋างฝู่ บ้านอยู่ที่ถนนตะวันตกในเมือง เฮ่อเว่ยเจินมีรูปร่างที่องอาจสง่างาม มีนิสัยอ่อนโยน สัตย์ซื่อ และมีความจริงใจ ในวัยเยาว์มีความเฉลียวฉลาดเกินเด็กอื่นๆ รักชอบทั้งบุ๋นและบู๊ ในตอนแรกได้ฝึกฝนมวยภายนอก ต่อมาภายหลังเห็นว่าไม่มีความปราดเปรียว ไม่ใช่วิชาต่อสู้ในระดับสูง จึงเปลี่ยนไปร่ำเรียนมวยไท้เก๊กจากท่านหลี่อวี้อวี๋ ตั้งปณิธานมุ่งมั่นฝึกฝนอยู่ 20 กว่าปี มีความลึกล้ำละเอียดลึกซึ้งในวิชา จนได้รับความชื่นชมจากท่านหลี่อวี้อวี๋ ได้รับมอบ "บันทึกมวยไท้เก๊ก” ที่เขียนด้วยลายมือของหลี่อวี้อวี๋เอง วิพากษ์มวยที่แต่งโดยอู่อวี้เซียง และหลี่อวี้อวี๋ มีข้อความที่สั้นและกระชับ แต่มีความหมายที่สมบูรณ์และครอบคลุมครบหมด ท่ามวยที่บัญญัติขึ้นมานั้นภายนอกดูธรรมดาพื้นเพ แต่ภายในนั้นซ่อนเร้นไว้อย่างมากมาย ในจุดที่สำคัญๆ หากไม่ได้รับการถ่ายทอดด้วยวาจาและแสดงให้ดูประกอบแล้ว จะไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ถึงความพิศดารได้ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีเพียงเฮ่อเว่ยเจินเท่านั้นที่สามารถรับสืบทอดเคล็ดลับเหล่านั้น ท่านหลี่อวี้อวี๋ได้มองเห็นว่าเฮ่อเว่ยเจินมีความเคารพครูบาอาจารย์ และเชื่อฟังในคำสั่งสอน เป็นคนมีนิสัยดีและซื่อตรง จึงเห็นเป็นผู้สืบทอดวิชาเป็นศิษย์ก้นกุฎิในวิชามวยของตน

ภายหลังจากที่ท่านหลี่อวี้อวี๋ได้ถึงแก่กรรม ได้มีผู้มาเชื้อเชิญเฮ่อเว่ยเจินให้ทำการสอนมวยแก่บุคคลทั่วไป วิชามวยของเฮ่อเว่ยเจินบรรลุถึงขั้นสูงล้ำดั่งฝีมือของเทพยดา ยามที่ยกมือวาดเท้าล้วนบังเกิดผล ความพิศดารสุดที่จะพรรณา เป็นที่เลื่องลือไปทั้งใกล้และไกล

มีผู้ที่มาเรียนมวยกับเฮ่อเว่ยเจินได้หลั่งไหลกันมาจากทุกที่ทั่วทุกสารทิศ ทำให้ได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ในช่วงนี้มวยไท้เก๊กสกุลอู่ก็ได้เผยแพร่ออกไปอย่าง กว้างขวาง สำนักที่ก่อสร้างโดยอู่อวี้เซียงเมื่อมาถึงเวลานี้ เพิ่งจะเจริญรุ่งเรืองกว้างไกลออกไป มวยไท้เก๊กได้เผยแพร่กว้างไกลในช่วงเวลา 30 ปี ได้วางรากฐานสำนักให้มั่นคงแข็งแรงเจริญรุ่งเรือง เฮ่อเว่ยเจินยังได้เขียน "วิพากษ์การฝึกฝนมวยไท้เก๊ก"

ในชีวิตของเฮ่อเว่ยเจินได้รับศิษย์ไว้มากมาย ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชา นอกจากบุตรชายคนรองคือเหวินกุ้ยแล้ว ศิษย์ที่สำคัญก็มีซุนลู่ถัง (ค.ศ. 1861-1932), หลี่เซียงเอวี่ยน (ค.ศ.1889-1961), บุตรชายคนรองของหลี่อวี้อวี๋คือหลี่ซุ่นจือ (ค.ศ.1883-1944) เมื่อท่านหลี่อวี้อวี๋ถึงแก่กรรมนั้นหลี่ซุ่นจือเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 8-9 ปีเท่านั้นเอง วิชามวยที่ได้รับส่วนใหญ่ ได้รับการถ่ายทอดจากเฮ่อเว่ยเจินผู้เป็นศิษย์พี่ เนื่องจากมีผู้ได้รับการถ่ายทอดมวยไท้เก๊กสกุลอู่ จากท่านเฮ่อเว่ยเจินอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ในการเผยแพร่มวยไท้เก๊กสกุลอู่ให้กว้างไกลออกไป

เฮ่อเว่ยเจินมีบุตร 4 คน คนโตชื่อเหวินฉิน มีอีกชื่อว่าจิ้งเอวี่ยน, บุตรคนรองชื่อ เหวินกุ้ย มีอีกชื่อว่าเยี่ยหยู ซึ่งเป็นบุตรที่กำเนิดจากภรรยาคนแรกที่แซ่ซู, บุตรคนที่3ชื่อ เหวินเถียน มีอีกชื่อว่าเอี้ยนเกิง, บุตรคนที่4ชื่อเหวินหลิน มีอีกชื่อว่าจู๋เสียน ซึ่งกำเนิดจากภรรยาคนที่สองที่แซ่หวัง มีเพียงบุตรคนรองเหวินกุ้ย และบุตรคนที่ 3 เหวินเถียน ที่สามารถสืบสานวิชาของตระกูล ไว้วิเคราะห์กลั่นกรองศิลปะวิชามวยไท้เก๊กสกุลอู่ วิชามวยของเหวินกุ้ยนั้นเยี่ยมยอดที่สุด